tossapitedu http://tossapitedu.siam2web.com/

อิ่น  เครื่องรางจูงใจรัก 

 (Root) 2009627_71799.jpg

         อิ่น  เป็นเครื่องรางชนิดหนึ่งของล้านนา  มีอานุภาพทางเมตตามหานิยมรูปลักษณ์เป็นรูปคนขนาดเล็กจิ๋วสองคนชายหญิงโอบกอดกัน  กล่าวกันว่าของเดิมนั้นเป็นหินแกะสลัก ภายหลังพบว่ามีทั้งไม้แกะสลักและปั้นจากผงคลุกรักปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป

ความเป็นมา 

       ในด้านความเป็นมายังไม่มีผู้ศึกษาโดยละเอียด  กระนั้นก็ตามยังมีผู้พยายามกล่าวถึง อย่างเช่นบทความของ วินัย  ศักดิ์เสนีย์  ที่เล่าตำนานของอิ่น แต่เรียกว่า อิ้น ในหนังสือ  ของดีเมืองไทย   หน้า  ๑๙๕ - ๑๙๗  ใจความว่า  ในจังหวัดเชียงใหม่  ราว พ.ศ.๒๔๐๐ เศษ ๆ มีช่างไม้คนหนึ่งชื่อนายอิน  ชอบแกะสลักรูปเด็กสองคนนั่งกอดกันโดยแกะจากไม้อิน (ต้นอินต้นจันทร์) เมื่อแกะแล้วก็เร่ขายให้ชายหนุ่มเพื่อใช้เป็นเครื่องรางสร้างความรักแก่เพศตรงข้ามสำหรับความเป็นมาเท่าที่สืบประวัติพบว่า  ในสมัยที่เชียงใหม่ตกอยู่ในอำนาจของพม่ามีหนุ่มสาวคู่หนึ่ง  ฝ่ายชายเป็นคนเชียงใหม่  ฝ่ายหญิงเป็นคนพม่า  ทั้งคู่เกิดรักใคร่ชอบพอกันแต่ญาติผู้ใหญ่กีดกัน  เมื่อไม่สมหวังในความรักจึงพากันไปกระโดดหน้าผาบูชารักบังเอิญหน้าผานั้นมีต้นอินและต้นจันทน์ขึ้นอยู่  ต้นไม้ทั้งคู่จึงถือเป็นอนุสรณ์แห่งรักแท้นายอินจึงถือเอาเคล็ดจากเหตุการณ์ดังกล่าว นำเอาไม้อินไม้จันทร์มาแกะเป็นรูปคนกอดรัดกัน  และเรียกว่าอิน  เพราะนายอินเป็นผู้แกะ  แต่ภายหลังมีการเรียกเพี้ยนเป็นอิ้นไป บทความนี้ดูจะเป็นตำนานเล่าขานมากกว่า  ขอให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณด้วย

การสร้างอิ่น 

                วัสดุที่นิยมนำมาสร้างสร้างอิ่น  นอกจากหินแล้วยังพบว่ามีการใช้ผงที่เกิดจากมวลสารมงคลต่าง ๆ นำมาคลุกกับยางรักปั้นเป็นหุ่นหรืออาจแกะสลักจากไม้ที่มีลักษณะพิเศษ  อาทิ 

  • - ไม้สายฟ้าฟาด คือไม้ที่ถูกฟ้าผ่าโดยเลือกเอาเฉพาะกิ่งที่ชี้ไปทางทิศตะวันออก
  • - ไม้ไก่กุ๊ก ได้แก่ไม้ที่ไก่ตัวผู้จิกหรือคาบแล้ววาง เพื่อล่อให้ตัวเมียเข้าไปหา
  • - ไม้เด้าน้ำ หมายถึง แขนงไม้ไผ่หรือเศษกิ่งไม้ที่ยื่นเข้าไปในลำน้ำและอยู่ในระดับปริ่มน้ำ เวลาน้ำไหลไม้นี้จะรับแรงปะทะจากน้ำทำให้ไม้กระดกขึ้นลงเป็นจังหวะ
  • - ไม้กาฝากมะยม คือไม้ที่ได้จากกาฝากที่ติดกับต้นมะยม

เนื่องจากอิ่นเป็นเครื่องรางการสร้างอิ่นจึงต้องมีพิธีกรรมตามตำราเรื่องนี้มีร่องรอยปรากฏในวรรณกรรมคร่าวซอเรื่อง  นกกระจาบ  ที่พิมพ์จำหน่ายโดยร้านประเทืองวิทยา  บทที่ ๓ ตอนที่ชายหนุ่มทั้งหลายได้ใช้ความพยายามที่จะให้นางไกสรหลงรักและพูดจาด้วย  ความพยายามส่วนหนึ่งมีการใช้ไสยเวทน์ประเภทคาถาและหุ่นดินปั้นโดยพลีเอาดินจากจอมปลวกปั้นเป็นรูปต้นกับนางไกรสรคู่กันกอดรัดกันอยู่ แล้วใช้ฝ้ายสำหรับจูงศพเข้าป่าช้ามาพันรอบไว้จากนั้นจึงเสกเป่าด้วยคาถา  บทหนึ่งมีคำว่า อิ่น ด้วย  เช่น 

                "บทหนึ่งนั้นนา  พ่อเถ้าสั่งไว้  ว่าโอมอิ่นแก้วมาโล  อิตถีปิยะ นามะนังโส สังโยโค มังมัง  ว่าอั้น แล้วพลีเอาดิน จุมปลวกมาปั้น  รูปเรากับมัน กอดรัด เอาฝ้ายจูงผีมาผูกมัด ไปไว้ที่ข้างทางซุม...."

          .ในส่วนรายละเอียดของการปลุกเสก  อินทร์  สุใจ  เสนอเป็นข้อเขียนไว้ในหัวข้อ  อิ่น  ในหนังสือ  สารานุกรมวัฒนธรรมไทย  ภาคเหนือ  เล่มที่ ๑๕ หน้า  ๗๙๒๓ ว่า 

                ในการสร้างอิ่นนั้น  ต้องเตรียมการนานวันและนาน ๆ จึงจะมีการสร้างครั้งหนึ่งเนื่องจากต้องปลุกเสกในวันเวลาที่มีจันทรุปราคา  และถ้าจะให้ขลังยิ่งขึ้น  เจ้าพิธีจะต้องเกิดในวันจันทร์  ทำพิธีในวันจันทร์และทำพิธีในยามจันทร์  คือเจ็ดโมงเช้า  โดยเฉพาะได้คนที่มีดวงเป็นมหาอุจเป็นเลขจันทร์  ๒ ตัวขึ้นไปยิ่งดี  กล่าวคือคนเกิดวันจันทร์  เดือนจันทร์ (เดือนยี่)  หรือปีจันทร์ (ฉลู) อย่างใดอย่างหนึ่งให้มีสองขึ้นไป  แล้วหาเลขอื่นมาบวกรวมเป็น ๙ - ๑๐ ยิ่งดี  เช่นคนเกิดวันจันทร์  เดือนยี่  รวมกันเป็น ๔  ได้คนเกิดปีมะเส็ง  เป็นปีที่ ๖  รวม ๑๐ กับเลข ๔ เท่ากับ ๑๐ จะเป็น ๑๐๐ เปอร์เซนต์เต็ม  อย่างนี้เป็นต้น  (๔+๖ = ๑๐ x ๑๐ = ๑๐๐)

 คาถาอิ่น 

                สำหรับคาถาที่ใช้ปลุกเสก  อาจมีหลายบทในที่นี้จะขอนำตัวอย่างที่ปรากฏในลานก้อม  (คัมภีร์ใบลาน

ขนาดสั้น)  ของท้าวพินิจสุขาการ  มาเสนอดังนี้

                "โอมอิ่นแก้ว  อิ่นนางงาม  ลุกไปติดตามทุกเมื่อ  มีสุขเพื่อมนต์ดี  โยยิ  ฉัพพัณณะ รังสี  รัศมีเหมือนอิ่นทาธิราลงมาเหนือแท่น เขบ็จหน้าแก่นพระจันทร์เป็ง  ใครใดบ่เล็งอยู่ บ่ได้  อกอ่อนไหม้สัพพะสิเนหโอมพุทโธ นะโม หัวใจไม่ไหว โอมธัมโม นะโม หัวใจติด โอมสังโฆ นะโม เลือดหัวใจข้อน โอม อาจริโย นะโม มักดั่งกบ นบดั่งเขียด เหยียด เหยียดดั่งงู ดูดั่งแม่ โอมวิชาธโร นะโม ตั้งแต่นี้เมือหน้า หื้อแต่งถ้าฟังเรา แท้เน้อ อิ่นเฮยอิ่น โอมสะหรี่ปิยะ สิเนหะ สวาหุม"  

 การใช้อิ่น 

                ผู้ใดมีอิ่นอยู่ในครอบครองควรแช่อิ่นในของหอมเช่น  น้ำมันจันทน์หรือไม่ก็ควรใส่ตลับสีผึ้งสำหรับทาปาก  พกติดตัวหรือเก็บไว้ที่สูง  และถ้าจะให้เกิดพลังเสน่ห์ควรหมั่นปลุกเสกเป็นประจำ

                อิ่น  เป็นเครื่องรางของล้านนาโดยแท้  ก่อนจบขอยืนยันว่าชื่อที่เรียกโดยทั่วไป คือ อิ่น ไม่ใช้ อิ้น หรือ อีอิ้น อย่างที่เข้าใจ


ข้อมูลจาก

อาจารย์สนั่น ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

<หน้าถัดไป>    <กลับหน้าหลัก>

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 33,295 Today: 9 PageView/Month: 63

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...