tossapitedu http://tossapitedu.siam2web.com/

นาค

(Root) 2009629_73081.jpg

 

      นาคเป็นอมนุษย์  มีพละกำลังมหาศาลทรงอานุภาพด้วยอิทธิฤทธิ์  อาศัยอยู่ใต้บาดาลที่เรียกว่านาคพิภพ รูปร่างทั่วไปลักษณะคล้ายงู โดยปกตินาคสามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นคือ ในเวลาเกิด ตาย นอนหลับ ร่วมเพศและเวลาลอกคราบ การแปลงกายของนาคมิใช่จะแปลงได้ทุกแห่ง เพราะนาคมี 2 ประเภท คือ นาคที่แปลงกายได้เฉพาะบนบก  เรียกว่า ถลชะ  และนาคที่แปลงกายเฉพาะในน้ำ เรียกว่า ชลชะ

      ในวรรณกรรมทางพระรพุทธศาสนากล่าวถึงนาคโดยละเอียดไว้มากมาย  ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึง  แต่จะเชื่อมโยงบทบาททางความเชื่อของคนล้านนา  ว่านาคนั้นมีบทบาทใดบ้าง  ดังจะได้เสนอเป็นลำดับต่อไป

  นาคให้น้ำ 

           ชาวล้านนาเชื่อว่า  ในแต่ละปีน้ำจะน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับจำนวนของนาคที่ขึ้นมาพ่นน้ำให้ฝนตก  หากปีใดนาคมีจำนวนน้อยปีนั้นน้ำจะมาก  แต่ถ้าปีใดนาคมีจำนวนมากปีนั้นน้ำจะมีน้อย  เพราะถ้ามีนาคหลายตัวจะเกี่ยงกันพ่นน้ำ  และการจะดูว่าปีไหนนาคจะให้น้ำกี่ตัว  ก็มีสูตรในการดูซึ่งมีอยู่หลายตำรา  ที่ดูง่ายที่สุด คือการดูจากปีนักษัตร อย่างเช่นที่ปรากฏในคัมภีร์พับสาของวัดศรีมงคล  อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ได้ระบุจำนวนนาคในแต่ละปีไว้ดังนี้

                ปีใจ้ (ชวด)  ๘ ตัว

                ปีเป้า (ฉลู)  ๒ ตัว

                ปียี  (ขาล)  ๕ ตัว

                ปีเหม้า (เถาะ)  ๔ ตัว

                ปีสี (มะโรง)  ๓ ตัว

                ปีใส้ (มะเส็ง)  ๗ ตัว

                ปีสะง้า (มะเมีย) ๒ ตัว

                ปีเม็ด (มะแม)  ๗ ตัว

                ปีสัน (วอก)  ๔ ตัว

                ปีเร้า  (ระกา)  ๖ ตัว

                ปีเส็ด  (จอ)  ๙ ตัว

                ปีใก๊ (กุน)  ๓ ตัว

 

นาครักษา 

                ในแต่ละปีจะมีการพยากรณ์ในใบประกาศสงกรานต์ที่เรียก  "หนังสือปีใหม่ " นอกจากจะบอกจำนวนนาคให้น้ำแล้ว  ยังปรากฏว่านาคมีหน้าที่รักษาปี รักษาป่า และรักษาน้ำ  โดยดูจากตัวเลขเศษจากการนำเอาตัวเลขจุลศักราชหารด้วย ๑๒ หากเศษ ๓ หรือ ๕  นาคจะรักษาปี (บางตำราว่ารักษาป่า) เศษ ๔ หรือ ๙  นาครักษาน้ำ (บางตำราว่ารักษาป่า)

 

นาคพ่นพิษ

                จากตำรานาคผู่พิษ ของวัดกิตติวงศ์  อำเภอแม่สะเรียง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  กล่าวถึงพญานาคตนหนึ่งลำตัวยาวใหญ่กระหวัดรัดโลกมนุษย์ไว้  พอถึงวันและเวลาตามกำหนดจะชูคอพ่นพิษลงพื้นโลก  ทำให้ผลร้ายบังเกิดแก่มนุษย์ที่ประกอบกิจกรรมในช่วงเวลานั้น ๆ เนื้อหาของตำราดังกล่าวพอสรุปได้ว่า

                เดือนใดก็ตาม ในวันขึ้น ๔ ค่ำ  และขึ้น ๑๐ ค่ำ  พญานาคจะพ่นพิษในตอนกลางคืน  ผู้ใดแต่งงาน  จะเลิกร้างกันในที่สุด

          เดือนใดก็ตาม  ในวันขึ้น  ๙ ค่ำ  และขึ้น ๑๐ ค่ำ  พญานาคจะพ่นพิษในตอนกลางวัน  กระทำการมงคลใดจะกลับกลายเป็นอัปมงคลไปสิ้น

                เดือนใดก็ตามในวันแรม ๓ - ๔ ค่ำ และวันเดือนดับ  พญานาคจะพ่นพิษในตอนกลางวัน  ไม่ควรสร้างบ้านเรือนใหม่  ไม่ควรออกเดินทางไปแสวงลาภ  ไม่ควรแรกปลูกต้นไม้จะทำให้เกิดความเสียหายตามมา

 

นาคหันหัว

                ในแต่ละเดือน  นาคจะหันหัวไปในทิศต่าง ๆ ในการปลูกบ้านจะต้องดูทิศนาคหันหัวก่อน  เพื่อเลือกขุดหลุม  วางมูลดินและหันปลายเสาให้ถูกต้อง  ทั้งนี้ตำราโบราณท่านระบุทิศหัวนาคท้องนาคและหลังนาคพร้อมทิศในการเลือกขุดหลุมเสาเล่มแรก  การวางมูลดินและหันปลายเสาไว้ดังนี้

 

เดือน                  หัว                      ท้องหลัง                                              หลุมเสา                                มูลดิน                     ปลายเสา 

๓ ๔ ๕         เหนือ                ตะวันออก                                    ตะวันตก                  ตะวันตกเฉียงใต้ใต้                                            

๖ ๗ ๘         ตะวันตก           ใต้                              เหนือ ตะวันออกเฉียงใต้                          ตะวันออก                ตะวันตก

๙ ๑๐ ๑๑      ตะวันออก       เหนือ                                        ใต้                             ตะวันออกเฉียงเหนือ             ตะวันออก

๑๒ ๑ ๒       เหนือ           ตะวันตก                                 ตะวันออก                                     ใต้                        เหนือ

 

สมมุติว่าถ้าจะปลูกบ้านในเดือน  ๓ ๔ ๕  ให้เลือกขุดหลุมเสาที่อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ก่อน  มูลดินที่ขุดขึ้นมาให้วางไว้ปากหลุมทิศเหนือ  วางเสาให้หันปลายเสาไปทางทิศใต้  หากกระทำการดังนี้  พญานาคจะพึงพอใจ และบันดาลให้เจ้าเรือนมีความสมบูรณ์พูนสุข

                อนึ่ง  การไถนาก็เช่นกัน  จะต้องไม่ไถไปทางทิศที่นาคหันหัวไป  เพราะถือว่าเป็นการ  เสาะเกล็ดนาค  คือไถย้อนเกล็ดนาค  ซึ่งถือเป็นการฝืนหรือด้านอิทธิพลพญานาคผู้ดูแลผืนดิน ผลที่ตามมาคือมักมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา  เช่น  ไถหัก  วัวควายตื่นกลัว  คนไถได้รับอันตรายหรือข้าวกล้าเสียหาย  เป็นต้น  ส่วนทิศการหันหัวของนาคจะเป็นทิศเดียวกันกับทิศที่กล่าวข้างต้นหรือไม่  ยังไม่มีข้อสรุป  เพราะมีตำรานาคหันหัวสำหรับการไถนาหลายฉบับ กล่าวตรงกันไว้ดังนี้

               

                เดือน  ๑ - ๓     หันหัวไปทางทิศใต้

                เดือน  ๔ - ๖    หัวหันไปทางทิศตะวันตก

                เดือน  ๗ - ๙    หัวหันไปทางทิศเหนือ

                เดือน  ๑๐ - ๑๒  หัวหันไปทางทิศตะวันออก

 

ขอที่ดินพญานาค

                การปลูกเรือนสร้างบ้าน  มีพิธีสำคัญอย่างหนึ่งคือการบูชาพญานาคเป็นการขอที่ดินจากพญานาคผู้เป็นเจ้าแห่งแผ่นดิน  พิธีนี้จะมีในวันยกเสาเอกหรือเสามงคล  โดยเริ่มต้นด้วยการจัดเตรียมใบมะตูม ๗ ใบ ผ้าขาวยาว ๑ ศอก  กระบอกไม้ไผ่บรรจุน้ำ ๗ กระบอก  กระบอกไม้ไผ่บรรจุทราย  ๗ กระบอก กระทงกาบกล้วย (สะตวง) กว้าง ๑ ศอก  ภายในกระทงใส่อาหารคาว หวาน ข้าว หมาก พลู บุหรี่ กล้วย อ้อย พริก เกลือ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวตอกดอกไม้ เทียน ๔ เล่ม ตุง ๔ ตัว  ช่อ (ธงสามเหลี่ยม)  ๔ ผืน  เฉพาะตุงและช่อให้สีตามเดือนซึ่งกำหนดไว้ดังนี้

                เดือน       ๑ - ๓  ใช้สีขาว

                เดือน    ๔ - ๖    ใช้สีเหลือง

                เดือน    ๗ - ๙    ใช้สีเขียว

                เดือน      ๑๐ -  ๑๒  ใช้สีแดง

หลังจากเตรียมสิ่งของพร้อมแล้ว  ผู้ประกอบพิธีจะกล่าวคำโองการการแล้วเอาผ้าขาวรองก้นหลุมเสามงคล  เอาใบมะตูมวางบนผ้าขาวพร้อมเทน้ำและทรายลง  ประพรมด้วยน้ำอบน้ำหอมน้ำส้มป่อย  เอามูลดินเล็กน้อยใส่กระทงใบพลี ณ ทิศตะวันออก  เป็นเสร็จพิธีขอที่ดินพญานาค

 

นาคเข้าบ่วงบาศ

                นาคเข้าบ่วงบาศ  หมายถึง  บ่วงบาศที่เป็นงู  เครื่องรางอย่างหนึ่งของชาวล้านนา  ที่เชื่อว่าสามารถสามารถหายตัวได้คือ  "นาคเข้าบ่วงบาศ"  เวลาพบเห็นงูสองตัวกำลังกลืนหางกันอยู่มีลักษณะเป็นวงกลมโบราณท่านให้หาแผ่นไม้หรือแผ่นหินที่มีน้ำหนักไปทับไว้ให้งูตาย  แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิท  บ่วงงูที่กลืนหางกันนี้  หากนำมาสวมศรีษะแล้วจะทำให้คนอื่นมองไม่เห็นตัวตน

 

การอ้างนาคให้ช่วยนำกุศล

                ในการทำบุญของชาวล้านนา  มักมีการอ้างเอาพญานาคร่วมกับเทพองค์อื่น ๆ ช่วยนำพาเอาส่วนบุญไปส่งให้แก่ดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ  ในกรณีที่ไม่สามารถมารับได้ดังปรากฏในคำให้พรของพระสงฆ์ที่ว่า  .....แม้ดวงวิญญาณของ.....อยู่ที่กวงไกลมาบ่ได้  ขอฝากกับเทพไธ้มเหสิกขา  พระญาอินทร์  พระญาพรหม  พระญายมราช  ครุฑนาคน้ำ  ปรไมไอศวร.....นำเอากุศลผลทานนี้ไปรอดเถิง

                ดังที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่านาคมีบทบาทความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมความเชื่อของชาวล้านนาเป็นอย่างมาก  ดังนั้นจึงไม่ใช่เรืองแปลกที่ปรากฏของรูปนาคตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะศาสนสถานอันเป็นแหล่งรวมรูปสิ่งอันเนื่องมาจากพื้นฐานของศรัทธา  ในเขตล้านนา

ข้อมูลจาก

อาจารย์สนั่น ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

<หน้าถัดไป>    <กลับหน้าหลัก>

 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 33,293 Today: 7 PageView/Month: 61

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...